วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

Yves Saint Laurent


Yves Saint Laurent


         
          เมื่อกล่าวถึงอีฟส์ แซ็งต์ ลอร็องต์ เรามักจะนึกถึงชุด Safari ชุดซีทรู สูทจับสม็อคทั้งตัว ชุดแจ็กเก็ตหนังสีดํา และผลิตภัณฑ์สวยหรูภายใต้สัญลักษณ์ YSL ของ เขา ที่มีตั้งแต่เสื้อผ้า น้ำหอม ปากกา ผ้าห่ม ไปจนถึงบุหรี่ แต่อีฟส์ แซ็งต์ ลอร็องต์เป็นมากกว่านั้น นอกเหนือไปจากความโดดเด่นในการเป็นนักออกแบบมืออาชีพ เขายังเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นของฝรั่งเศสและของโลกอย่างมากใน ฐานะนักปฏิวัติแห่งวงการแฟชั่นที่พลิกรูปแบบแฟชั่นในแบบดั้งเดิมให้มีสีสัน และรูปแบบดังที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน ผลงานของเขานั้นไม่ได้มีอิทธิพลจํากัดเฉพาะในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายทั่วโลก

ผลงานในการปฎิวัติวงการแฟชั่นของเขา ได้แก่

การ พยายามผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวบ้านเข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของชนชั้นสูงแบบโอต์ กูตูร์ ความคิดแหวกแนวดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้เขาถูกให้ออกจากห้องเสื้อ โอต์ กูตูร์ ของ Christian Dior ในปี ค.ศ. 1960

เป็นผู้ออกแบบเสื้อคอเต่า (Turtleneck) และเสื้อแจ็กเก็ตสําหรับขี่รถจักรยานยนต์ และ Bubble Skirts

เป็นผู้นำในการออกแบบชุดทักซิโด และชุดกางเกงทำงานสําหรับผู้หญิงซึ่งเป็นภาพที่ยังไม่เคยมี
ปรากฏในสมัยนั้น ถึงขนาดที่ในปี ค.ศ. 1968 เมื่อแนน เคมป์เนอร์ (Nan Kempner) สาวสังคมอเมริกันเดินถูกห้ามเข้าภัตตาคารเริ่ดหรูในนิวยอร์คเพราะสวมกางเกง YSL!

ในปี ค.ศ. 1967 แซ็งต์ ลอร็องต์ ช็อควงการบันเทิงด้วยการออกแบบคอสตูมที่ดูคล้ายกับชุดทหารให้กับแคธเธอรีน เดอนูฟ ในภาพยนตร์เรื่อง Bell de Jour ชุดของเขาถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดและผิดยุคมากในสมัยนั้นที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาแต่งตัวในรูปแบบเดียวกับผู้ชาย

การออกแบบชุด See Through ของเขาในปี ค.ศ. 1968 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สําคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แฟชั่น

แซ็งต์ ลอร็องต์เป็นทั้งบิดาแห่งเมโทรเซ็กซวลและตัวป่วนวงการแฟชั่นแห่งยุคสมัย ในการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรี แซ็งต์ ลอร็องต์พยายาม ทําให้สตรีมีความเป็นบุรุษ แต่ในการออกแบบเครื่องแต่งกายบุรุษ แซ็งต์ ลอร็องต์ กลับพยายามทําให้บุรุษมีความเป็นสตรี

นำผ้ากํามะหยี่มาใช้ในการตัดชุดผู้ชาย ใช้ผ้าไหมหลากสีเป็นผ้าพันคอสำหรับผู้ชาย กระบวนการที่กลับกันในการออกแบบของเขาถือเป็นต้นแบบของการออกแบบเครื่องแต่ง กายที่ไม่จําแนกเพศ ( Uni-sex Dress )

นอกจากนี้เขายังทําลายการเหยียดสีผิวในธุรกิจแฟชั่น โดยการริเริ่มให้นางแบบผิวดําเดินแฟชั่นโชว์ ทำให้นางแบบผิวดำและนางแบบผิวสีต่างๆ ได้มีโอกาสแจ้งเกิดบนเวทีแฟชั่นระดับโลก จากเดิมที่จำกัดเฉพาะคนขาวเท่านั้น   

ในปี ค.ศ.1996 เขาได้ริเริ่มการจัดแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าโอต์ กูตูร์ที่มีการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ต
ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอีฟส์ แซ็งต์ ลอร็องต์ เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้มาก่อนกาล โดยยึดแนวความคิดเสรีนิยมในการออกแบบ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จัดว่าล้ำกว่าสมัยมากในยุคของเขา ผลงานของแซ็งต์ ลอร็องต์จึงเป็นงานที่ได้รับทั้งกระแสความชื่นชมและต่อต้านไปในขณะเดียวกัน แต่ในปัจจุบัน กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เราทุกคนเห็นแล้วว่าเขาเป็นนักออกแบบตัวจริง ที่มีทั้งศิลปะในการออกแบบและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลอย่างที่นักบริหารควรมี
         ทางด้านชีวิตส่วนตัวนั้น อีฟส์ แซ็งต์ ลอร็องต์เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมือง Oran ประเทศอัลจีเรีย ในปี ค.ศ. 1936 เขามาจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี พ่อของเขาเป็นผู้บริหารเครือข่ายโรงภาพยนตร์ เขาสนใจการออกแบบเครื่องแต่งกายมาแต่เล็กๆ และพรสวรรค์ของเขาเริ่มฉายแววในการแข่งขันการออกแบบเครื่องแต่งกาย International Wool Secretariat contest ในปีค.ศ. 1954 ผลงานนี้เป็นใบเบิกทางให้เขาได้เข้าไปทํางานในสํานักออกแบบเสื้อผ้าของของคริสติออง ดิออร์ (Christian Dior Couture House) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี จากนั้นก็กลายเป็นลูกศิษย์ที่โดดเด่นที่สุดของดิออร์
           หลังจากการถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันของคริสติออง ดิออร์ในปี ค.ศ. 1957 ด้วยวัยเพียง 21 ปี ลอร็องต์ซึ่งมีฝีมืออันโดดเด่น ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของห้องเสื้อดิออร์ แต่ชีวิตการทํางานของเขาที่ห้องเสื้อดิออร์มิได้สดใส เพราะแนวความคิดพื้นฐานในการออกแบบเครื่องแต่งกายของแซ็งต์ ลอร็องต์แตกต่างจากผู้บริหารของดิออร์โดยสิ้นเชิง เขาจึงถูกให้ออกจากงานในปี ค.ศ. 1960 หลังจากที่ได้ออกผลงานมาเพียง 6 คอลเลคชั่นเท่านั้น
จากนั้น แซ็งต์ ลอร็องต์ก็ถูกเกณฑ์ทหารเพื่อไปร่วมรบในสงครามกู้ชาติอัลจีเรีย (Algerian war of independence) ภาวะกดดันภายใต้ชีวิตทหารทำให้เขาเป็นโรคประสาทและต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล หลังการบำบัด ปิแอร์ แบร์เจ (Pierre Berge) ผู้ที่ลอร็องต์พบในงานศพคริสติออง ดิออร์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1957 ช่วยระดมทุนและจัดการให้ แซ็งต์ ลอร็องต์ได้เปิดห้องเสื้อ ”Yves Saint Laurent Haute Couture Hous” ขึ้นในปีค.ศ. 1962 ทั้งสองกลายเป็นทั้งหุ้นส่วนชีวิตและคู่รักแห่งวงการแฟชั่น

หากโลกแห่งแฟชั่นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโคโค ชาแนล และช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นของคริสโตบอลบาลองซิอากา (Cristobal Balenciaga) และคริสติออง ดิออร์ ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ต้องถือเป็นยุคของแซ็งต์ ลอร็องต์โดยแท้

แซ็งต์ ลอร็องต์ป็นผู้ที่มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมการแต่งกายของพลโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอต์ กูตูในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ Yves Saint Laurent กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจแฟชั่น ผลงานการออกแบบของเขาจึงเข้าสู่กระบวนการสากลานุวัตร และ YSL กลายเป็นยี่ห้อระดับโลก (Global Brand)

เมื่อเข้าสู่ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 ของชนรุ่นที่เรียกกันว่า The Beat Generation แซ็งต์ ลอร็องต์ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายเรียกว่า Beat Look ที่เน้นความงามและความสง่าของสตรีเป็นหัวใจในการออกแบบ

           ในด้านหนึ่ง แซ็งต์ ลอร็องต์เสริมความสง่าให้สตรีด้วยเครื่องแต่งกายบุรุษ ดังเช่นด้วยท่าทางอันกระฉับกระเฉง และกลายเป็นภาพคุ้นตาในปัจจุบัน จนนักวิเคราะห์แฟชั่นถึงกับเสนอบทวิเคราะห์พัฒนาการของแฟชั่นว่า โคโค ชาแนลช่วยปลดปล่อยร่างกายสตรีให้เป็นอิสระ ในขณะที่แซ็งต์ ลอร็องต์เสริมอํานาจสตรีด้วยเครื่องแต่งกายบุรุษ กล่าวคือ เขาออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อเสริมความงามของผู้หญิง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถโชว์ความงามของเรือนร่างได้
  
          ในด้านธุรกิจ แม้ว่าแซ็งต์ ลอร็องต์จะเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโอต์ กูตู เฮ้าส์ ซึ่งออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายสําหรับไฮโซและคนดังทั้งหลาย แต่ในเวลาต่อมา เขากลับพบว่า การขยายฐานธุรกิจของโอต์ กูตู เฮ้าส์นั้น ยากและลําบากกว่าธุรกิจแฟชั่นประเภทอื่นๆมาก เนื่องจากตลาดมีขนาดจํากัด ดังนั้นในปี 2509 เขาจึงจัดตั้ง Rive Gauche เพื่อผลิตและจําหน่ายเสื้อผ้าสําเร็จรูป (Ready-to-wear Boutique) แล้วจึงขยายธุรกิจไปผลิตเครื่องสําอางค์และนํ้าหอม โดยที่นํ้าหอมยี่ห้อ Opium ออกสู่ตลาดในปี 2520 เมื่อแบรนด์ YSL ติดตลาดแซ็งต์ ลอร็องต์จึงใช้ยี่ห้อ YSL ปะไปกับสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งแว่นตา ผ้าห่ม และบุหรี่

          ในเดือนมกราคม ปีค.ศ. 2002 ขณะที่ลอร็องต์มีอายุได้ 65 ปี เขาได้ประกาศอำลาวงการแฟชั่นอย่างเป็นทางการ และได้กล่าวขอบคุณคริสติออง ดิออร์ บาลองซิเอก้า และชาแนล สำหรับคุณานุปการที่มีต่อผลงานของเขา และได้ให้เหตุผลในการอำลาวงการแฟชั่นว่า ลอร็องต์บอกว่าเขารู้สึกแปลกแยกและเอียนเต็มทีกับวงการแฟชั่นในปัจจุบันที่ ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนทางธุรกิจมากกว่า ศิลปะ

          งานแฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของแซ็งต์ ลอร็องต์ Haute Couture จบลงอย่างอลังการ ด้วยน้ำตาแห่งความปรีดาและเสียงเพลง “Ma Plus Belle Histoire d'Amour” โดยแคธเธอรีน เดอนูฟ ณ Centre Georges Pompidou Art Gallery นครปารีส เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545


....ถือว่าเป็นการจบภาระกว่า 40 ปีของนักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้...











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น